วัดพระธาตุดอยจอมทอง

วัดพระธาตุดอยจอมทอง หรือวัดพระธาตุดอยทอง (หรือวัดพระธาตุดอยตอง
ตามสำเนียงคนเชียงราย) เป็นหนึ่งในพระธาตุ 9 จอม ตั้งอยู่ใน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นวัดเก่าแก่ และถือเป็นปูชนียสถานแห่งหนึ่งใน “เก้าจอม” ของสถานที่อันเป็นมงคลนามของจังหวัดเชียงราย
โดยวัดพระธาตุดอยจอมทองนี้ สันนิษฐานว่าสร้างก่อนที่พญามังรายมหาราชจะเสด็จมาพบพื้นที่บริเวณนี้
และโปรดให้สร้างเมืองเชียงรายในปี พ.ศ.
1805 โดยตามประวัติที่มีการกล่าวถึงวัดพระธาตุดอยจอมทองระบุว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยพญาเรือนแก้ว
เจ้าผู้ครองเมืองไชยนารายณ์ (บริเวณอำเภอเวียงชัยปัจจุบัน) นี้ พ.ศ.
1483 โดยในการสร้างวัดครั้งนั้น
ได้มีการสร้างองค์พระเจดีย์ประธานของวัดขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่พระมหาเถระชาวลังกาได้นำมาถวายแด่พญาพังคราชแห่งเมืองโยนกนาคพันธุ์ ซึ่งพญาพังคราชได้โปรดให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 3 ส่วน และนำไปประดิษฐาน ณ
พระบรมธาตุเจดีย์ที่สำคัญของจังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน ได้แก่ พระมหาชินธาตุเจ้าดอยตุง พระธาตุจอมกิตติ และพระธาตุดอยจอมทองแห่งนี้
ลักษณะโดยทั่วไป
พระเจดีย์ประธานของวัดพระธาตุดอยจอมทอง
มีลักษณะเป็นเจดีย์ล้านนาพุกาม
องค์ประกอบของเจดีย์ส่วนฐานมีลักษณะเป็นฐานปัทม์หกเหลี่ยมยกสูง
องค์เจดีย์มีลักษณะเป็นชั้นบัวถลารับองค์ระฆัง ส่วนยอดประกอบด้วยบัลลังก์ ปล้องไฉน
ปลียอด และมีฉัตรอยู่ชั้นบนสุด องค์เจดีย์หุ้มด้วยทองจังโกฏิ
เหมือนกับพระเจดีย์อื่นๆในภาคเหนือ ทำให้เกิดความสวยงามและยังสามารถป้องกันการเกิดตะไคร่น้ำ
และป้องกันการเกิดวัชพืชบนองค์เจดีย์ด้วย
สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งภายในวัดพระธาตุดอยจอมทองคือพระวิหาร
โดยมีลักษณะเป็นพระวิหารแบบร่วมสมัย ระหว่างศิลปล้านนาและรัตนโกสินทร์
มีองค์ประกอบที่สำคัญเหมือนพระวิหารทั่วๆ ไป กล่าวคือ ประกอบด้วยช่อฟ้า
ใบระกา
หางหงส์ หน้าบัน บัวหัวเสา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย
และมีการตกแต่งภายในพระ
วิหารด้วยจิตรกรรมที่แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

วัดพระธาตุดอยจอมทองมีประเพณีการสรงน้ำพระธาตุในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ใต้ (เดือน
5 เหนือ) นอกจากนี้ประชาชนยังนิยมมาชมวิวแม่น้ำกกและสักการะเสาสะดือเมืองเชียงราย
(เสาหลักเมือง) นอกจากนั้นบริเวณเชิงบันไดลงทางด้านทิศตะวันตกของวัดมีศาลเจ้าจีน
ซึ่งเป็นสถานที่ที่พี่น้องชาวไทยจีนนิยมมาประกอบพิธีกรรมสำคัญเป็นประจำ
เสาสะดือเมือง
108 หลัก เสาสะดือเมืองนี้ชาวเชียงรายได้ร่วมใจกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพญามังราย
และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในวโรกาสมหามงคลพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบห้ารอบ
โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยสังคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และรัฐบาลเยอรมนี
เสาสะดือเมือง 108 หลัก
ตั้งอยู่บนรูปแบบสมมุติของจักรวาลอันเป็นคติที่มีมาแต่โบราณ
ด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันออก ลานรอบนอกหมายถึงแผ่นดิน
ล้อมรอบด้วยคูน้ำอันเปรียบได้กับน้ำในขอบจักรวาล
รอบในยกขึ้นเป็นหกชั้นหมายถึงสวรรค์ทั้งหกของกามภูมิ แล้วยกขึ้นอีกสามชั้นซึ่งหมายถึงรูปภูมิ
อรูปภูมิ และชั้นบนสุดเปรียบได้กับนิพพาน
สำหรับตัวเสาสะดือเมืองเป็นดั่งเขาพระสุเมรุ ตั้งอยู่บนฐานสามเหลี่ยม
หมายถึงตรีกูฏบรรพตหรือผาสามเส้า ล้อมด้วยเสา 108 ต้น
อันหมายถึงสิ่งสำคัญในจักรวาล และล้อมรอบอีกชั้นด้วยร่องน้ำห้าร่องซึ่งเปรียบเป็นปัญจมหานทีลดหลั่นเป็นชั้นไหลลงสู่พื้นดินตามคติโบราณของล้านนา
เสาสะดือเมืองจะใหญ่เท่าห้ากำมือและสูงเท่ากับความสูงของพระเจ้าแผ่นดิน
โคนเสาสะดือเมืองนี้จึงใหญ่เท่ากับห้าพระหัตถ์กำ
และสูงเท่ากับส่วนสูงแห่งพระวรกาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
พระองค์ได้เสด็จมาเจิมเสาสะดือเมืองนี้ เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2531ชาวเชียงรายมีความเคารพศรัทธาเสาสะดือเมืองแห่งนี้มาก
จึงนิยมมาสรงน้ำเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของชาวเมือง
และเชื่อว่าน้ำที่สรงเสาสะดือเมืองแล้วเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์
การเดินทาง จากห้าแยกพ่อขุนเม็งรายมหาราช
เข้าถนนอุตรกิจไปจนถึงสี่แยกพหลโยธิน (สายใน)
เลี้ยวขวาผ่านหน้ากองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย
และสถานีตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสิงหไคล
ผ่านองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคเหยือเขต
๒ ตรงไปจนถึงปากทางเข้าศาลากลางจังหวัดเชียงราย เลี้ยวซ้ายเข้าถนนไตรรัตน์
ผ่านวัดพระแก้ว เลี้ยวขวาผ่านโรงเรียนเชียงรายวิทยาคม
เลี้ยวขวาอีกครั้งหนึ่งขึ้นดอยทองผ่านวัดงำเมืองไปประมาร ๓๕o เมตร ก็จะถึงปากทางขึ้นพระธาตุดอยจอมทอง
|

|
|
|
|