ภูชี้ฟ้า
ประวัติ ภูชี้ฟ้า เป็นส่วนหนึ่งของเทือกดอยผาหม่น ที่เป็นพรมแดนไทย-ลาว ด้าน จ.เชียงราย-พะเยา ลักษณะเป็นหน้าผาหินตั้ง อยู่บนเส้นกั้นพรมแดนพอดี ในอดีต เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของ พคท. ด้วยสภาพภูมิประเทศที่สูงชัน จึงเป็นฐานที่มั่นที่สำคัญ ชาวลาวและชาวไทย ในพื้นที่เรียกผาหินที่ชี้เหยียดตรงขึ้นไปบนฟ้าว่าภูฟ้า เมื่อปัญหาด้านความมั่นคงคลี่คลาย มีการตัดถนนขนานแนวชายแดน ไทย-ลาว จากบ้านผาตั้ง ภูชี้ฟ้า ไปถึง อ.เชียงคำ ภูชี้ฟ้าจึงเริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม บนยอดภูชี้ฟ้า เป็นจุดที่ยื่นจากแนวเขตพรมแดน จึงไม่สามารถระบุชัดได้ว่า อยู่ในเขตไทยหรือลาว แต่ทางขึ้นสู่ยอดภูชี้ฟ้านั้นอยู่ในเขตไทย เคยมีการปักธงชาติไทยบนปลายสุดของหน้าผา แต่ในวันถัดมา ทหารลาวก็จะนำธงลาวมาปักเคียงคู่กันด้วย ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย จึงห้ามนักท่องเที่ยวพักแรมบนภูชี้ฟ้า
วนอุทยานภูชี้ฟ้า
อยู่ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือพื้นที่ป่าโซน C ตามแผนที่ ZONING เนื้อที่ที่สำรวจและเห็นควรจัดตั้งเป็นวนอุทยาน ประมาณ 2,500 ไร่ โดยกรมป่าไม้ได้มีคำสั่งจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2541 มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ จดทางหลวงจังหวัดสาย 1093
- ทิศใต้ จดสันเขา
- ทิศตะวันออก จดสันเขา / ชายแดนไทย - สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
- ทิศตะวันตก จดทางหลวงจังหวัดสาย 1093 ลักษณะภูมิประเทศ พื้นที่วนอุทยานเป็นยอดเขาสูงในเทือกเขาดอยผาหม่น ติดชายแดนไทย - สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,200 เมตร ถึง 1,628 เมตร จุดสูงสุดคือ บริเวณจุดชมวิว มีความลาดชันเฉลี่ยทั่วพื้นที่ประมาณ 40 เปอร์เซนต์
ลักษณะภูมิอากาศ อากาศบนภูเขาจะค่อนข้างเย็นแต่ฤดูกาลจะเป็นแบบมรสุมเมืองร้อน โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงฤดูฝน และลมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาว แบ่งเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง ตุลาคม และฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึง กุมภาพันธ์
พืชพรรณและสัตว์ป่า
- เป็นป่าดิบเขา ยกเว้นบนยอดภูชี้ฟ้าเป็นทุ่งหญ้าประมาณ 300 ไร่ ชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เสี้ยวดอกขาว ก่อเดือย ก่อก้างด้าง ก่อแดง ก่อน้ำ ก่อแป้น ก่อสีเสียด อบเชย กำยาน หว้า เหมือด สารภี จำปาป่า จำปีป่า พันธุ์ไม้พื้นล่าง ได้แก่ เอื้องดิน หญ้าคา หญ้าแฝก หญ้าหางหนู หญ้าสามคน หญ้าไม้กวาด หญ้าเลา มอส เฟิร์นชนิดต่าง ๆ
- สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่พบเห็นได้แก่ เก้ง กระจง หมูป่า อีเห็น ชะมด เสือไฟ เสือ ปลา แมวป่า หมูหริ่ง บ่าง เม่น พังพอน ค้างคาว กระต่ายป่า เพียงพอน กระรอกบิน กระรอก กระแต
- นกที่พบเห็นได้แก่ นกเขา เหยี่ยว นกกระสา นกอินทรี นกฮูก นกปรอด นกแขวก นกเค้าแมว นกแสก นกกระปูด นกเอี้ยง นกกางเขน นกขมิ้น นกกระทาดง นกกวัก นกกิ้งโครง นกขุนทอง นกแซว นกนางแอ่น นกยูง นกตะขาบ นกหัวขวาน นกดุเหว่า ไก่ป่า ไก่ฟ้า
- สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่พบเห็นได้แก่ เต่า กบ เขียด คางคก ปาด อึ่งอ่าง
- สัตว์เลื้อยคลาน ที่พบเห็นได้แก่ งูชนิดต่าง ๆ ตะกวด ลิ่น ตุ๊กแกป่า กิ้งก่าบิน กิ้งก่า จิ้งเหลน แย้ ตะขาบ แมลงป่อง กิ้งกือ
- ปลาที่พบเห็นได้แก่ ปลาแก้ม ปลาข้างลาย ปลาก้าง ปลาขาว ปลาซิว
แหล่งท่องเที่ยว
ภูชี้ฟ้า เป็นยอดเขาสูงที่สุดในเทือกเขาดอยผาหม่น สูงจากระดับน้ำทะเล 1,628 เมตร ด้านที่ติดสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีหน้าผาสูงชัน เป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุด ในฤดูหนาวจะมีทิวทัศน์สวยงามเป็นพิเศษ นักท่องเที่ยวส่วนมากจะมาค้างแรมบริเวณบ้านร่มฟ้าทองทางห่างจากจุดชมวิวประมาณ 1.5 กิโลเมตร แล้วจะเดินขึ้นภูชี้ฟ้าเพื่อไปชมวิวตอนเช้ามืด ระหว่างทางจะพบแปลงปลูกป่านางพญาเสือ ออกดอกบานสะพรั่งสวยงาม (เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์) และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ต้นเสี้ยวดอกขาวรอบภูชี้ฟ้าจะออกดอกบานเต็มเชิงเขา กิจกรรม : ชมพรรณไม้ แค็มป์ปิ้ง ชมทิวทัศน์ (ผาชี้ฟ้า เป็นหน้าผาหินที่มีลักษณะโดดเด่น คือ คล้ายนิ้วชี้ที่ชี้ตรงออกไปยังทิศตะวันออก ภูชี้ฟ้าอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 1,628ม. จากระดับน้ำทะเล หน้าผาหินเป็นทางลาดชัน ปกคลุมด้วยหญ้า ไม้พุ่ม และโขดหิน ไม่มีไม้ใหญ่ขึ้นเลย สามารถเดินลัดเลาะไปจนถึงสุดปลายของหน้าผา ที่ยื่นออกไปได้ แต่จุดที่นักท่องเที่ยวนิยมถ่ายภาพ จะเป็นหมู่หินใหญ่ริมหน้าผา ก่อนถึงปลายสุดของภูชี้ฟ้าประมาณ 300 ม. ชมทะเลหมอก จากภูชี้ฟ้า สามารถมองลงไปเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขา ในเขต ต.เชียงตอง ฝั่งลาว และเทือกเขาสลับซับซ้อน ไกลออกไปลิบๆ คือแม่น้ำโขง ที่ไหลขนานไปกับเทือกดอยผาหม่น ในช่วงเช้าตรู่ หุบเขาเบื้องล่างจะปกคลุมด้วยสายหมอก ทิวทัศน์จะยิ่งงดงาม เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ภูชี้ฟ้าหันไปทางทิศตะวันออก จึงเป็นจุดชมพระอาทิตย์ที่ได้รับความนิยมมาก นักท่องเที่ยว จะออกจากที่พัก เริ่มเดินเท้าขึ้นไปยังจุดชมวิว ตั้งแต่ก่อนสว่าง)


นอกจากนี้ เสน่ห์ของ "ภูชี้ฟ้า" ยังคงมีบรรยากาศเมืองเหนือเหมือนอุทยานและดอยอื่น ๆ มีหมู่บ้านชาวเขา บริเวณตีน ภูชี้ฟ้า เป็นบรรยากาศของการท่องเที่ยว มีที่พักขนาดเล็กๆ หลายแห่งให้เลือกใช้บริการ ดำเนินงานโดยชาวเขาบ้างชาวเราบ้าง และที่บริเวณบ้านเช็งเม้งก่อนขึ้นสู่ตีนภูชี้ฟ้า เป็นหมู่บ้านชาวม้ง หากมาเยือนภูชี้ฟ้า ในช่วงปีใหม่ยังจะได้ชมงานปีใหม่ ที่ชาวม้งจะแต่งตัวม้งครบถ้วนทั้งหญิงและชาย จุดเด่นของงาน คือ การโยนลูกช่วงหรือลูกหินระหว่างหนุ่มสาว
สำหรับภูมิอากาศบนภูเขา จะค่อนข้างเย็นแต่ฤดูกาลจะเป็นแบบมรสุมเมืองร้อน โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงฤดูฝน และลมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาว แบ่งเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม และฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์
"ภูชี้ฟ้า" เป็นดอยเดียวที่ชื่อว่า "ภู" ทั้งที่ตามจริงแล้วจะต้องชื่อว่า "ดอยชี้ฟ้า" ตามคำเรียกของทางเหนือ แต่ว่า ภูชี้ฟ้า เป็นชื่อที่คนต่างถิ่นไปตั้งชื่อ จึงเรียกว่า "ภู" ในสมัยก่อนพื้นที่ของ ภูชี้ฟ้า เป็นแดนผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ มีการต่อสู้ทางอาวุธและแนวความคิดที่รุนแรงแห่งหนึ่งของประเทศไทย ครั้นเมื่อลัทธิคอมมิวนิสต์ล่มสลายไป เริ่มมีผู้คนเดินทางมาชมธรรมชาติที่นี่ และแล้วชื่อเสียงของภูชี้ฟ้าก็ขจรขจายไปอย่างรวดเร็ว
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง
ดอยผาตั้ง อยู่ห่างจากภูชี้ฟ้าไปประมาณ 24 กิโลเมตร ในเขตบ้านผาตั้ง อำเภอเวียงแก่น เมื่อชมทะเลหมอกยามเช้าที่ ภูชี้ฟ้า แล้ว ช่วงบ่ายจึงเหมาะที่จะไปเที่ยว ดอยผาตั้ง สิ่งที่น่าดูของ ดอยผาตั้ง คือ ทิวทัศน์ที่มองเห็นแม่น้ำโขงที่กั้นพรมแดนไทย-ลาว ทิวทัศน์สุดสายตากับป่าเขียว ๆ บริเวณทางขึ้นสู่ผาตั้งยังมีผาบ่องลักษณะเป็นช่องหินขนาดใหญ่ ขนาดคนเดินผ่านได้ มองเห็นทิวทัศน์ของลาวได้สวยงามเช่นกัน
การเดินทางไปยังดอยผาตั้ง สามารถใช้เส้นทางหลวงจังหวัดสาย 1093 และจากดอยผาตั้งยังสามารถเดินทางต่อไปยังอำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน และอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายได้อีกด้วย